เมื่อไขมันน้อยเกิน

 

เมื่อไขมันน้อยเกิน

เหตุที่เรามักได้ยินว่าเวลาลดน้ำหนัก ต้องทานไขมันให้น้อยลง ก็เพราะคนส่วนใหญ่มักทานอาหารที่เต็มไปด้วยไขมันโดยไม่รู้ตัวอยู่แล้ว แต่บางคนเข้าขั้นกลัวไขมันไปเลย ทำให้วันๆแทบไม่ได้รับไขมันเลยด้วยซ้ำ แล้วจะเกิดอะไรขึ้น เมื่อไขมันน้อยเกิน

 

เราต้องการไขมันวันละเท่าไหร่

แล้วจะทราบได้อย่างไร ว่ามากเกินไป หรือน้อยเกินไป  ก่อนอื่นเราต้องทราบก่อนว่า เราต้องการไขมันวันละเท่าไหร่  ปกติแล้วคนเราต้องการไขมัน 20-35% คิดแบบกลางๆก็ประมาณ 30% ของความต้องการแคลอรี่ทั้งหมด  สามารถคิดเป็นจำนวนกรัมของไขมันได้ตามตารางข้างล่างนี้

ความต้องการแคลอรี่ ความต้องการไขมัน น้อยเกิน มากเกิน
1,200 27-47 g < 27 g > 47 g
1,300 28-51 g < 28 g > 51 g
1,400 31-54 g < 31 g > 54 g
1,500 33-58 g < 33 g > 58 g
1,600 36-62 g < 36 g > 62 g
1,700 38-66 g < 38 g > 66 g
1,800 40-70 g < 40 g > 70 g
1,900 42-74 g < 42 g > 74 g
2,000 44-78 g < 44 g > 78 g
2,100 47-82 g < 47 g > 82 g
2,200 49-86 g < 49 g > 86 g
2,300 51-89 g < 51 g > 89 g
2,400 53-93 g < 53 g > 93 g

ไขมันต่อวัน

 

การได้รับไขมันที่มากกว่าความต้องการไม่ใช่เรื่องดีแน่ๆ ทั้งเสี่ยงต่อโรคหัวใจ เบาหวาน มะเร็ง และอ้วน แต่การได้รับไขมันที่น้อยกว่าความต้องการ  ก็ไม่ใช่สิ่งที่ควรทำเหมือนกัน แล้วจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง เมื่อไขมันน้อยเกิน

 

1. ทำให้การดูดซึมวิตามินน้อยลง

มีวิตามินอยู่ 4 ชนิด ที่จำเป็นต้องละลายตัวในไขมันเท่านั้น ถึงจะสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ นั่นคือวิตามินเอ วิตามินดี วิตามินอี และวิตามินเค  วิตามินเหล่านี้จะผสมผสานกับไขมันแล้วไปเก็บตัวอยู่ตามเซลล์ไขมัน ตามตับ ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโต การสร้างภูมิคุ้มกัน และการแข็งตัวของเลือด

ถ้าเราได้รับไขมันไม่เพียงพอ วิตามินพวกนี้ก็จะถูกขับออกทางปัสสาวะไป ทำให้ร่างกายขาดวิตามินพวกนี้ได้ แม้ว่าเราจะทานวิตามินเสริมไปมากแค่ไหนก็ตาม

 

2. ทำให้ซึมเศร้า

ไขมันโอเมกา-3 กับ โอเมกา-6 มีส่วนในการสร้างฮอร์โมนและสารเคมีต่างๆในสมอง ซึ่งส่งผลต่อด้านอารมณ์ เช่น อารมณ์แปรปรวน โรคสมาธิสั้น โรคจิต และภาวะที่มีความผิดปกติด้านการทาน

 

3. เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคมะเร็ง

การได้รับไขมันจำเป็นที่น้อยเกินไป จะมีความเสี่ยงต่อมะเร็งลำไส้ มะเร็งเต้านม และมะเร็งต่อมลูกหมาก  ซึ่งมีงานวิจัยที่บอกว่าการได้รับโอเมกา-3 ในปริมาณสูง จะช่วยชลอการเติบโตของเนื้องอกและมะเร็งต่อลูกหมาก

 

4. เสี่ยงต่อโรคไขมันสูง และโรคหัวใจ

อย่าเพิ่งแปลกใจที่การได้รับไขมันน้อยเกินไป แต่กลับทำให้เป็นโรคไขมันสูง และโรคหัวใจได้ด้วยเหมือนกัน เป็นเพราะว่า เมื่อเราได้รับไขมันจำเป็นน้อยโดยเฉพาะโอเมกา-3  ระดับไขมันดีในเลือด (HDL) ก็จะน้อยตามไปด้วย

ตัวไขมันดีนี่เอง ที่เป็นตัวเก็บกวาดไขมันเลว (LDL) ไปกำจัดที่ตับ  แต่เมื่อไขมันดีไม่พอ ไขมันเลวก็เพิ่มจำนวน ไปสะสมตามหลอดเลือด ทำให้เสี่ยงต่อโรคหัวใจได้

 

5. ทำให้สารอาหารเสียสมดุล

เมื่อเราทานไขมันน้อยกว่าที่ควร  ทำให้เราต้องได้รับพลังงานจากทางอื่นแทนนั่นก็คือแป้ง และโปรตีน  โดยที่แป้งที่มากเกินไปจะไปเพิ่มความอยากอาหารมากขึ้น และมีโอกาสเป็นโรคเบาหวานมากขึ้น  ส่วนโปรตีนที่มากเกินไปจะไปเพิ่มภาระให้ไตและตับ ทำให้เสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุน ดังนั้นทางที่ดีที่สุดคือ สร้างสมดุลระหว่างสารอาหารหลักทั้งสามอย่าง ไม่มากเกินไป และไม่น้อยเกินไป

 

6. ทำให้ทานมากเกินไป

เมื่อเราโฟกัสแต่อาหารที่ไร้ไขมัน หรือไขมันต่ำ  ซึ่งมันไม่อร่อยแน่ๆ  ก็จะไปเพิ่มกินพวกอาหารแปรรูปแบบไม่รู้ตัว  ซึ่งเต็มไปด้วยแป้ง และแคลอรี่โดยที่ไม่รู้ตัวเลย  เช่นแทนที่จะเลือกซื้อเนื้อสัตว์ ถั่วเมล็ดแห้งไปต้ม เพราะกลัวไขมันจากสัตว์และถั่ว แต่กลับไปเลือกไส้กรอก ลูกชิ้นแทน

หรือผลิตภัณฑ์หลายๆอย่างที่ระบุว่าไร้ไขมัน หรือไขมันต่ำ  แต่กลับมีแคลอรี่ที่มากกว่าเดิม เพราะแม้จะเอามันออก แต่เติมแป้งเข้าไปแทน

เมื่อไม่มีไขมันที่ทำให้เราอิ่มนาน เราก็จะรู้สึกหิวเร็วขึ้น อยากทานจุบจิบตลอดเวลา โอกาสการได้รับแคลอรี่ก็ยิ่งมากกว่าทานไขมันซะอีก

 

การทานอาหารอย่างสมดุลเป็นทางออกที่ดีที่สุด  ไม่มีอย่างไหนมากเกินไป หรือน้อยเกินไป  และไขมันที่ควรได้รับก็ควรเป็นไขมันชนิดดี เช่นอโวคาโด น้ำมันคาโนล่า น้ำมันมะกอก ถั่ว อัลมอนด์ ทูนา แซลมอน เมล็ดแฟล็ก ไม่ใช่ไขมันอะไรก็ได้ อย่างน้ำมันที่ใช้ทอด ไขมันจากขนมหวาน และคุ้กกี้

 

ข้อมูลจาก sparkpeople.com

กลับหน้าแรก ezygodiet.com

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.