แอโรบิค-คาร์ดิโอ คืออะไร
เราอาจเคยได้ยินว่าบางคนพูดว่า แอโรบิค บางคนพูดว่า คาร์ดิโอ จริงๆแล้วมันก็คืออันเดียวกัน “แอโรบิค” ก็คือการออกกำลังกายแบบใช้ออกซิเจน หมายถึงร่างกายต้องการออกซิเจนเพิ่มขึ้น
.
ในขณะที่การออกกำลังกายแบบไม่ใช้ออกซิเจน หมายถึงร่างกายใช้พลังงานฮึดชั่วขณะ โดยไม่ต้องอาศัยออกซิเจน เช่นการยกน้ำหนัก
.
แต่สำหรับ “คาร์ดิโอ” มาจากคำว่า Cardiovascular คำว่า Cardio คือหัวใจ Vascular คือหลอดเลือด รวมกันเป็น หลอดเลือดหัวใจ หมายความว่า ออกกำลังกายแบบที่หัวใจต้องทำงานหนักขึ้น เพื่อส่งเลือดไปเลี้ยงร่างกายมากขึ้น
.
สรุปแล้ว ไม่ว่าจะได้ยินใครพูดถึง คาร์ดิโอ หรือ แอโรบิค ก็ให้เข้าใจว่ามันหมายความถึง การออกกำลังกายที่ทำให้หัวใจเต้นเร็ว หายใจหอบ เหนื่อยอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่เดี๋ยวหยุด เดี๋ยวเหนื่อย
.
ตัวอย่างการออกกำลังกายแบบ แอโรบิค หรือ คาร์ดิโอ ก็เช่น การเดินเร็วๆ การวิ่งเหยาะๆ การวิ่งเร็วๆ การเต้นรำ รวมถึงการเต้นแอโรบิค การปั่นจักรยาน การว่ายน้ำ การขึ้นบันได การปีน ฯลฯ ลองดูที่ ไอเดียคาร์ดิโอ
.
ประโยชน์ของ แอโรบิค หรือ คาร์ดิโอ
หลักๆแล้วคือ ช่วยสร้างความแข็งแรงให้หัวใจและปอด เพราะในระหว่างการออกกำลังกาย กล้ามเนื้อจะต้องการออกซิเจนมากขึ้น และคายคาร์บอนไดออกไซด์มากขึ้น
ผลก็คือ หัวใจต้องบีบตัวเร็วขึ้น เพื่อส่งออกซิเจนไปทางเลือดให้กับกล้ามเนื้อ และนำคาร์บอนไดออกไซด์กลับมาฟอกที่ปอดให้ทันต่อความต้องการ
ส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจได้ออกกำลังกายไปด้วย หัวใจและปอดก็แข็งแรงขึ้นนั่นเอง ซึ่งเห็นผลได้ดังนี้
ลดไขมัน และควบคุมน้ำหนักให้เป็นปกติ
ลดความดันเลือดให้เป็นปกติ
เพิ่มไขมันชนิดดี (HDL)
ลดคอเลสเตอรอล
ช่วยให้ร่างกายทนต่อการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำตาลในเลือด ลดภาวะดื้ออินซูลิน
ลดความเครียด ความกังวล และความกดดันต่างๆได้
เพิ่ม VO2 max หรือความจุของออกซิเจน พูดง่ายๆคือทำให้ไม่เหนื่อยง่าย
ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจและปอด
เพิ่มการไหลเวียนเลือด ส่งออกซิเจนให้กล้ามเนื้อง่ายขึ้น ทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรง ไม่เมื่อยล้าง่ายๆ
ลดอัตราการเต้นของหัวใจในขณะพัก ยิ่งอัตราการเต้นของหัวใจน้อยก็แปลว่าหัวใจแข็งแรง บีบตัวครั้งเดียวสามารถส่งเลือดได้มากขึ้น
.
ควรแอโรบิค หรือ คาร์ดิโอ บ่อยแค่ไหน
ให้จำหลักการ FITT ซึ่งได้แก่
.
Frequency หรือ ความถี่
ให้ตั้งเป้าหมายแอโรบิคอย่างน้อย 3 วันต่อสัปดาห์ และมีวันพักอย่างน้อย 1-2 วันต่อสัปดาห์
.
Intensity หรือ ความรุนแรง
ให้อยู่ในระดับ ปานกลาง ไม่เบาเกินไป และไม่หนักเกินไป เราสามารถวัดระดับความรุนแรงได้จากอัตราการเต้นของหัวใจสูงสุด (Maximum Heart Rate;MHR)
โดยระดับปานกลางควรมี HR อยู่ที่ 60-85% หรือที่เขาเรียกกันว่า Target Heart Rate(THR) แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า เรากำลังออกกำลังกายในระดับปานกลางมั้ยดูได้จาก
– ใช้เครื่องวัดอัตราการเต้นของหัวใจโดยเฉพาะ โดยดูเป้าหมาย HR ได้จาก โปรแกรมคำนวณ Target Heart Rate
– Talk Test ทดสอบจากการพูด ถ้าขณะออกกำลังกายแล้วพูดไปหอบไป พูดต่อเนื่องไม่ได้ ก็ถือว่าอยู่ในระดับปานกลางแล้ว เป็นวิธีทดสอบง่ายๆคร่าวๆได้เหมือนกัน
.
Time หรือ เวลา
คือควรแอโรบิคนานแค่ไหนในแต่ละครั้ง
ควรไม่ต่ำกว่า 20 นาที ถ้าให้ดีควร 60 นาที เพราะถ้าน้อยกว่า 20 นาที เครื่องยังไม่ทันร้อนก็เลิกแล้ว ก็ไม่ค่อยได้เผาผลาญซักเท่าไหร่
แต่ถ้าทำต่อเนื่องกันนานกว่า 20 นาทีก็เป็นการฝึกความอดทน ทำให้ครั้งต่อๆไปออกกำลังกายได้นานขึ้นด้วย
แต่ถ้าไม่มีเวลาออกกำลังกายต่อเนื่องจริงๆ ก็สามารถใช้วิธีเก็บสะสมครั้งละ 10 นาที ให้รวมกันได้ 60 นาทีก็ได้
.
Type หรือ ชนิดของการแอโรบิค
ทุกๆกิจกรรมสามารถนับเป็นแอโรบิค/คาร์ดิโอได้หมด ถ้าอยู่ในเงื่อนไข 3 ข้อข้างต้น (3-5 ครั้ง/สัปดาห์ , ระดับปานกลาง , ต่อเนื่องขั้นต่ำ 20 นาที)
.
ข้อแนะนำสำหรับผู้เริ่มต้น
ให้แพทย์ตรวจร่างกายให้แน่ใจก่อนว่าพร้อมและสามารถออกกำลังกายได้จริงๆ
เลือกกิจกรรมที่เราชอบที่สุด จะได้รู้สึกสนุก ไม่น่าเบื่อ
ต้องวอร์มอัพก่อนทุกครั้ง 5-10 นาที
ค่อยเป็นค่อยๆไป เริ่มจากง่ายๆก่อน อย่าหักโหม คำนึงถึงความปลอดภัยก่อน
cool down หลังแอโรบิคทุกครั้ง 5-10 นาที
เปลี่ยนกิจกรรมให้หลากหลาย เช่นถ้าวิ่งอย่างเดียวมา 6-8 สัปดาห์แล้ว ลองเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นดูบ้าง กล้ามเนื้อส่วนอื่นๆจะได้ฝึกบ้าง เพิ่มเวลา เพิ่มความเข้มข้น พัฒนาสมรรถภาพตัวเองให้มากขึ้น
ถ้าเกิดการบาดเจ็บ ควรให้เวลาร่างกายพักรักษาตัวบ้าง
ออกกำลังกายในที่อากาศถ่ายเทสะดวก อุณหภูมิพอดี ไม่ร้อนเกินไป หรืออยู่ในที่สูงเกินไปอย่างภูเขาสูงๆ
ดื่มน้ำ ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการออกกำลังกาย
ควรงดออกกำลังกายถ้าเป็นหวัด ติดเชื้อ หรือไม่สบาย แต่ให้นอนพักผ่อนแทน
รีบไปพบแพทย์ทันที ถ้าออกกำลังกายแล้วรู้สึกเจ็บหน้าอก หายใจไม่สะดวก ปวดหัว หรือรู้สึกไม่สบาย
.
ชนิดของการฝึกแอโรบิค
Continuous traning เป็นการแอโรบิคอย่างต่อเนื่อง 20-60 นาที
Interval training เป็นการแอโรบิคแบบเบาๆสลับกับหนักๆ หรือที่บางคนเรียกว่า HIIT
Circuit training เป็นการแอโรบิคผสมการฝึกกล้ามเนื้อหรือออกแรงต้าน
Cross-training เป็นการแอโรบิคหลายกิจกรรม เช่น ปั่นจักรยาน 15 นาทีแล้วเปลี่ยนไปวิ่งอีก15 นาที หรือ วิ่ง 2 วัน ปั่นจักรยาน 2 วัน ว่ายน้ำอีก 1วันต่อสัปดาห์ แบบนี้ดีตรงที่ได้ใช้กล้ามเนื้อหลายส่วน และให้เวลาพักกล้ามเนื้อบางส่วน
.
ข้อมูลจาก sparkpeople.com
เป็นการให้ความรู้ที่ดีมาก ๆ ค่ะ ขอบคุณค่ะ