นึกว่า ทำแบบนี้แล้วผอม
คำว่า นึกว่า ของคนเรา มักเป็นแบบคิดเองเออเอง ยิ่งการลดน้ำหนักมีหลายแนวคิดมาก บางทีก็นึกว่าถูก แต่ก็อาจผิด นึกว่าได้ผล แต่ก็ไม่ได้ผล เราลองมาตรวจสอบกันมั้ยว่า มีเรื่องไหนบ้างที่ นึกว่า … แต่กลับไม่ใช่อย่างที่นึก แล้วจริงๆควรต้องทำยังไง
.
1. นึกว่า คำว่า “ไดเอ็ท” คือต้องจำศีล
พอได้ยินคำว่า “ไดเอ็ท” ก็ชวนให้นึกถึงภาพที่ต้องกินอย่างจำกัดจำเขี่ย อดมื้อกินมื้อ ออกกำลังกายหนักๆ เพื่อนชวนก็บอก “กำลังไดเอ็ทอยู่”
เพราะคิดว่า การไดเอ็ด คือทำแค่ช่วงระยะเวลาสั้นๆ พอลดน้ำหนักได้แล้ว ก็กลับไปกินเยอะแบบเดิมได้แล้ว แต่ตอนนี้ขอลดให้ได้ก่อน
พอลดน้ำหนักได้แล้ว ก็เลี้ยงฉลองหุ่นใหม่ สำเร็จแล้ว จะทำอะไรก็ได้แล้ว พอรู้สึกตัวว่าอ้วน ก็ฮึดขึ้นมาเข้าคอร์สลดน้ำหนักใหม่ เดี๋ยวอ้วน เดี๋ยวผอมอยู่เรื่อย
.
เข้าใจใหม่ : ไดเอ็ท ไม่ใช่การจำศีล 1 เดือน ไม่ใช่การเข้าคอร์สแป๊บๆ แต่ไดเอ็ทคือ การเลือกกินอาหาร การใช้ชีวิตในแบบคำนึงถึงสุขภาพมากขึ้น แต่ก็ยังกินของชอบบ้าง กินอาหารนอกบ้านบ้าง เข้าสังคมบ้าง ใช้ชีวิตแบบปกติ ทำให้สามารถทำไปได้นานตลอดชีวิต โดยไม่รู้สึกว่ากำลังจำศีลเลย
.
.
2. นึกว่า จะเปลี่ยนได้ภายในชั่วข้ามคืน
พอตอนรู้สึกอ้วนสุดขีด หรือมีคนแซวว่าอ้วน เราก็เริ่มคิดทันทีว่าจะต้องทำอะไรซักอย่างแล้ว สิ่งที่คิดได้คือ ต่อไปนี้จะไม่กินมื้อเย็น ต่อไปนี้จะไม่กินขนม ต่อไปนี้จะออกกำลังกาย แล้วก็ผลัดวันไปเรื่อย วันนี้เหนื่อย ไว้พรุ่งนี้ดีกว่า ไว้เดือนหน้า ไว้ปีหน้า ไว้หลังสงกรานต์ และแล้วก็ยังไม่ได้เริ่มซักที
.
ก็เพราะเราคิดแต่จะเปลี่ยนตัวเอง จากหลังมือเป็นหน้ามือไปเลยยังไงล่ะ ไม่มีใครที่อยู่ดีๆจะเปลี่ยนจากคนที่ติดของหวานๆ ติดกินเยอะๆ กลายเป็นคนที่คลีนสุดๆ ไม่แตะของหวาน กินน้อย ออกกำลังกายทุกวัน มันเป็นแค่ความคิดที่เราอยากเป็น แต่มันไม่สามารถเปลี่ยนได้ทันทีทั้งหมดหรอก
.
เข้าใจใหม่ : ค่อยๆเปลี่ยนทีละนิดดีกว่า มันจะทำให้เริ่มได้เลยไม่ต้องรอฤกษ์ยาม การมีวิถีชีวิตแบบรักสุขภาพ ไม่จำเป็นต้องหนีขนม ไม่ต้องหนีของที่อยากกิน เพียงแต่อะไรที่มันไม่ดีต่อสุขภาพแล้วคิดว่ามันมากเกินไปแล้ว ก็ค่อยๆลดลงทีละนิด และอะไรที่คิดว่าดีต่อสุขภาพ ก็ค่อยๆเพิ่มเข้ามา
.
เช่น ปกติกินข้าวมันไก่แล้ว ต้องต่อด้วยก๋วยเตี๋ยว ชาเย็น ขนมหวาน ก็ลองลดเป็นข้าวมันไก่จานนึงแล้วไม่ต้องต่อด้วยก๋วยเตี๋ยวดูก่อน ชาเย็น ขนมหวานยังไม่ต้องเลิกก็ได้ พอทำจนรู้สึกไม่ฝืนแล้ว ก็ค่อยๆลดอย่างอื่นที่เราคิดว่าพอลดได้ลง แล้วเพิ่มผัก ผลไม้เข้ามาแทน
.
.
3. นึกว่า เลิกกินของชอบไปเลยดีกว่า
บอกได้เลยว่าของที่เราชอบ ยังไงมันก็คือขอบชอบ มันไม่มีทางที่จะเลิกชอบ(ถ้าไม่ได้อยากเลิกนะ) เหมือนเราชอบคนคนนึง รู้ว่าเขาอาจจะมีข้อเสียบ้าง แต่เราก็ยังชอบ ต่อมีคนจับแยก ในหัวสมองก็ยังต้องคิดถึงอยู่ดี มันเลยทำให้เรารู้สึกทรมาน แทนที่เลิกแล้วจะหายชอบไปเอง แต่กลับเก็บกด อยากกินมากขึ้นอีก
.
เข้าใจใหม่ : ให้ตั้งอยู่บนความพอดี โฟกัสกับอาหารสุขภาพก็จริง แต่อาหารที่ชอบ ก็ยังคงกินได้ เพียงแค่แบ่งกินในปริมาณที่พอเหมาะ ทำให้เรารู้สึกกระชุ่มกระชวย กับของชอบของเราได้อยู่ เช่น จากกินขนมทั้งห่อ ก็แบ่งเป็นครึ่งห่อ จากกิน 5 ชิ้น ก็เหลือ 3 ชิ้น
.
.
4. นึกว่า ดูแต่แคลอรี่ก็พอ
การจำกัดแคลอรี่ ก็เป็นเรื่องที่สมควรอยู่ แต่ความสมดุลของสารอาหารนั้นสำคัญกว่า อาหารบางอย่างมีแคลอรี่สูงกว่าแต่ก็มีประโยชน์กว่า เช่น อัลมอนด์ 20 เม็ด 140 แคลอรี่ ได้ทั้งโปรตีนและไขมันดี แถมยังอิ่มอยู่ท้อง เทียบกับไส้กรอก 1 แท่ง 100 แคลอรี่ ที่มีแต่แป้ง และไขมันไม่ดี แถมเป็นอาหารแปรรูปที่ไม่ดีต่อสุขภาพอีกด้วย
.
เข้าใจใหม่ : เลือกอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ควบคู่กับการควบคุมแคลอรี่ คำนึงถึงความสมดุลคาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน วิตามิน และแร่ธาตุ ให้เหมาะสม
.
.
5. นึกว่า ชั่งน้ำหนักบ่อยๆจะได้ตั้งใจ
แทนที่จะทำให้ตั้งใจ แต่อาจกลายเป็นวิตกจริตแทนก็ได้นะ บางคนชั่งน้ำหนักเช้า กลางวัน เย็น พอน้ำหนักลดก็กระหยิ่มยิ้มย่อง พอน้ำหนักขึ้นแค่ครึ่งโลก็ร้องโอดโอย
น้ำหนักมันก็แค่บอกน้ำหนักรวม มันไม่ได้แยกน้ำหนักไขมันเท่าไหร่ กล้ามเนื้อเท่าไหร่ซักหน่อย น้ำหนักลดลงก็อาจเป็นน้ำ กับกล้ามเนื้อก็ได้ แล้วจะไปดีใจทำไม
.
เข้าใจใหม่ : ชั่งน้ำหนักเดือนละ 1-2 ครั้งก็พอ แล้วสังเกตุที่สัดส่วนและสุขภาพดีกว่า เสื้อผ้าหลวมลงมั้ย คล่องตัวขึ้นมั้ย ปวดเข่าน้อยลงมั้ย เหนื่อยยากขึ้นมั้ย
.
.
6. นึกว่า อดอาหารอย่างเดียวดีกว่า ขี้เกียจออกกำลังกาย
ควบคุมอาหาร กับอดอาหารมันไม่เหมือนกันนะ ควบคุมอาหารก็แค่ควบคุมไม่ให้มากเกินไป แต่ก็ไม่ให้น้อยไป ซึ่งเราจะไม่หิว แต่อดอาหารคือกินน้อยมาก เราจะรู้สึกหิวแสบท้อง
.
อย่างที่เคยบอกว่าควบคุมอาหารอย่างเดียว ไม่ออกกำลังกายก็ยังสามารถลดน้ำหนักได้ แต่ถึงขั้นอดอาหาร เพียงแค่ขี้เกียจออกกำลังกาย แต่อยากลดเร็วๆ แบบนี้จะยิ่งทำให้ไม่มีทางหุ่นดีได้ในระยะยาวแน่นอน เพราะคิดว่าจะอดอาหารได้ซักกี่วันล่ะ อย่างมากก็ 3 วัน อย่างเก่งก็ 7 วัน แล้วหลังจากนั้นล่ะคิดไว้หรือยังว่าจะทำยังไง ตะบะแตกกลับมากินเยอะกว่าเดิมแน่นอน
.
เข้าใจใหม่ : ถ้าขี้เกียจออกกำลังกาย ก็อย่าอดอาหาร ให้ควบคุมอาหาร แต่ถ้าอยากลดน้ำหนัก แบบมีความสุข ไม่ต้องทรมาน สามารถกินของชอบได้บ้าง ก็ลองเพิ่มกิจกรรมใช้แรง ออกกำลังกายบ้าง นอกจากจะช่วยให้หายเบื่อ รู้สึกกระปรี้กระเปร่าแล้ว ยังทำให้เราสามารถกินของชอบได้โดยไม่รู้สึกผิดด้วย
.
.
7. นึกว่า กินให้น้อยที่สุด
กินมากไปก็อ้วน กินน้อยไปก็ไม่มีแรง ยิ่งในระยะยาวแล้ว การกินน้อยแบบสุดๆ ก็ทำให้ระบบเผาผลาญแย่ลง อ้วนง่ายขึ้นนะ
.
เข้าใจใหม่ : อย่าเดาหรือลอกความต้องการแคลอรี่มาจากคนอื่น ว่าเราควรได้รับแคลอรี่แค่ 1000 หรือ 2000 แต่ให้คำนวณแคลอรี่ที่เราต้องการที่เป็นของตัวเราเอง เช่นได้ TDEE = 1800 ก็แค่กินให้ต่ำกว่า 1800 แต่ไม่ให้ต่ำกว่า BMR แบบนี้ก็ทำให้เราไม่ต้องพยายามกินให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะกลัวแคลอรี่เกินแล้ว
.
.
8. นึกกว่า ต้องเพอร์เฟ็กต์ห้ามหลุด
คงไม่มีใครสามารถลดน้ำหนักรวดเดียว หุ่นดีทันทีเลย โดยไม่หลุด ไม่พักเลย คงต้องมีบ้างแหละ ที่ขี้เกียจออกกำลังกาย ติดงาน ลืมเตรียมอาหาร เข้าสังคม แต่พอหลุดโปรแกรมแล้วก็ไม่เห็นต้องถอดใจล้มเลิกไปเลยนี่
.
เข้าใจใหม่ : จำไว้ว่าไม่มีมนุษย์เพอร์เฟ็กต์บนโลกนี้ เราก็เป็นมนุษย์คนนึงที่มีกิเลศ มีความท้อแท้ แต่ไม่ว่าจะยังไงอย่าล้มเลิกเด็ดขาด พักได้ ผ่อนคลายได้
.
การเปลี่ยนนิสัยไม่ได้ทำกันง่ายๆแค่เดือนสองเดือน แต่ต้องเป็นปี หรือหลายปี เมื่อใดก็ตามที่รู้สึกอยากเลิก ลองลดความเคร่งลง วันนี้หลุด พรุ่งนี้เอาใหม่ พรุ่งนี้หลุด มะรืนสู้ใหม่ ไม่ใช่หลุดแล้วหลุดเลย ยอมแพ้ซะแล้ว อย่าประชดด้วยการทำทุกอย่างที่ตรงกันข้ามกับสิ่งที่ทำอยู่
.
.
9. นึกว่า อาหารสุขภาพ ต้องมีแคลอรี่ต่ำที่สุด
อาหารที่ดีต่อสุขภาพ ไม่จำเป็นต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่เขียนว่า ออร์แกนิก ไร้น้ำตาล ไร้ไขมัน แคลอรี่ต่ำ บางครั้งมันก็แค่คำโฆษณาเท่านั้น อาหารสุขภาพก็คือ อะไรที่ใกล้เคียงธรรมชาติที่สุดที่เรากินได้ โดยให้ประโยชน์ต่อร่างกาย ในปริมาณที่เหมาะสม
.
เข้าใจใหม่ : อ่านฉลากข้อมูลโภชนาการให้เป็น ดูว่ามีสารอาหารอะไรบ้าง มากแค่ไหน ส่วนประกอบ แคลอรี่ต่อหน่วย หรือเวลาไปกินอาหารข้างนอก ก็คิดให้เป็นว่ามันทำมาจากอะไร อย่าหลงคำว่าอาหารสุขภาพอย่างเดียว เช่น เขาว่าเป็น เบเกอรี่แคลอรี่ต่ำ , ขนมปังผัก มันก็อาจไม่ใช่อาหารสุขภาพจริงๆก็ได้
.
.
10. นึกว่า จะลดได้แบบเขา
พอเราได้ยินว่ามีคนลดน้ำหนักได้ 10 กก. ภายใน 10 วัน ลดน้ำหนักได้แบบเว่อร์ๆ เราก็เริ่มอิจฉาตาร้อนอยากลดได้แบบนั้นบ้าง เขาทำยังไง เขากินอะไร จะได้เลียนแบบ ใครจะรู้ว่าหลังจาก 10 วันแล้ว เขาเป็นยังไงต่อ 1ปี 2ปี ผ่านไป ยังอ้วนอยู่มั้ย
จำไว้ว่าไขมันไม่มีทางหายไปได้เร็วขนาดนั้น น้ำหนักที่ลดได้เร็วๆต้องเป็นน้ำหนักของน้ำ กับกล้ามเนื้ออยู่แล้ว
หรือน้ำหนักเขาเกินเท่าไหร่เราก็ไม่รู้ เพราะคนที่น้ำหนักเกินมากๆ เป็นร้อยๆกิโล ก็สามารถลดได้ 10 กก. ภายในระยะเวลาสั้นๆอยู่แล้ว
.
เข้าใจใหม่ : ไม่ว่าจะสาเหตุอะไร เขาจะทำยังไง จะลดได้เท่าไหร่ เร็วแค่ไหน ก็ไม่เห็นเกี่ยวกับเราตรงไหนเลย หรือแม้กระทั่งน้ำหนักของเราเอง จะลดเท่าไหร่ก็ไม่เห็นต้องไปสนใจ ถ้าคิดว่าเราได้พยายามดีที่สุดแล้ว ถ้าเราคิดว่าเราทำเพื่อสุขภาพ ไม่ใช่การรีดน้ำหนัก
.
โดย ezygodiet.com